หลังจากที่เกริ่นให้เพื่อนๆ รู้จักกับวิกฤติการเงินโลกครั้งใหญ่ทั้ง 18 ครั้งให้ได้รู้จักกันแล้ว ได้คุยกับหลายคนก็พบว่า นักลงทุนจำนวนมากที่ไม่รู้ หรือไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ของวิกฤติการเงินโลกมาก่อน มันสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนส่วนใหญ่มักลงทุน โดยเน้นไปทีการมองที่ตัวหุ้น ตัวบริษัทเป็นหลัก โดยไม่ได้คำถึงภาพใหญ่ Macro View ระดับโลก ซึ่งบางครั้งมันก็อาจจะทำให้เป็นจุดเสียเปรียบ วันนี้ขอมาต่อตอนที่ 3 เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นไทย เพื่อให้มองเห็นภาพผลกระทบที่เกิด และการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะมาถึงในอนาคต
ต้นตอของปัญหา
จากที่อ่านเรื่องราวของวิกฤติการเงินโลก สาเหตุใหญ่ล้วนมาจาก 3 ประการที่เหมือนๆกัน นั้นคือ
1. ความโลภของภาคธนาคารและวาณิชธนกิจ เช่นกรณีปัญหา Sub prime หรือยุค Wall street Crash และอีกหลายวิกฤติที่เกิดการปล่อยกู้เกินตัว ปล่อยกู้แบบเสรี เพื่อที่จะสร้างกำไรจากการปล่อยกู้ จนเมื่อเกิดปัญหาหนี้เสีย ทุกอย่างก็พังพินาศ
2. ภาวะฟองสบู่ การแห่กันเก็งกำไร ในสินทรัพย์ เช่นหุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ ตามๆกันตามกระแส โดยความโลภของนักลงทุน ที่คิดอยากจะรวย คิดจะหาโอกาสทำเงินโดยปราศจากการพิจารณาความเสี่ยง สุดท้ายเมื่อฟองสบู่แตก ทุกอย่างก็จบลงที่หายนะ
3. การโกง ฉ้อฉล ของนักการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย รูปแบบการใช้เงินของรัฐแบบเกินตัว ทำนโยบายแบบผิดพลาด เพื่อใช้เงินงบประมาณไปกับการหาเสียง การทำประชานิยม ตลอดจนการโกงกินของนักการเมืองที่คอรัปชั่นเงินงบประมาณผ่านโครงการ เมื่อประเทศเป็นหนี้สาธารณะสูงมาก จนเกิดรายได้ GDP ก็ทำให้ต้อล้มละลาย เช่นในกรณีของอเจนตินาและแมกซิโก เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงพวกนักการเมืองที่เข้ามาบริหารนโยบายการเงินการคลัง แบบผิดพลาด หรือขาดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาเช่นเรื่อง มาตรการดอกเบี้ย มาตรการค่าเงิน เป็นต้น
สัญญาณบอกเหตุเมื่อเกิดวิกฤติ
- GDP ของประเทศ
GDP ของประเทศที่กำลังจะเกิดวิกฤติมีการขยายตัวที่ลดลง บางครั้งอาจจะรุนแรงจนถึงการตกลงต่อเนื่องหลายปี รวมไปถึงหนี้สาธารณะของประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
GDP Growth สหรัฐอเมริกา
GDP Growth ของประเทศแมกซิโก
GDP Growth ของประเทศไทย
ค่าเงิน เป็นตัวสะท้อนคุณค่าของสินทรัพย์ประเทศนั้นๆ เมื่อประเทศเกิดวิกฤติ ความน่าเชื่อถือก็ลดลง บวกกับการด้อยค่าของสินทรัพย์ในประเทศนั้นๆ ทำให้ค่าเงินของประเทศที่เกิดวิกฤติ อ่อนตัว และเข้าสู้ทิศทางขาลงอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงพันธบัตรรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้น เพื่อจูงใจให้มีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อ ประกอบกับรัฐบาลประเทศที่เกิดวิกฤติต้องการเงินทุน มาเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ยอมจ่ายดอกเบี้ยจากพันธ์บัตรรัฐบาลในอัตราที่สูง
กราฟค่าเงินดอลล่าห์สหรัฐ
ตลาดหุ้น ของประเทศที่เกิดวิกฤติการเงินจะเป็นตัวชี้วัด ร่วงหน้าถึงการเกิดวิกฤติการเงินได้เป็นอย่างดี เพราะการวิกฤติการเงินในประเทศ มักมีผลโดยตรงกับภาคธคารและวาณิชธนกิจ ซึ่งส่วนใหญ่มีการลงทุนในตลาดหุ้น เมื่อมีปัญหาสภาพคล่องหุ้นในมือพวกนี้ จึงถูกเทขาย ทำให้ตลาดหุ้นตกลง บวกกับเมื่อปัญหาวิกฤติการเงินเริ่มชัด นักลงทุนในประเทศจะเกิดการตื่นตระหนก(Panic) ทำให้มีแรงเทขายหุ้นอย่างรุนแรง ตลาดหุ้นในประเทศที่เกิด วิกฤติจะเข้าสู่ขาลงที่รุนแรง
ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย
วิกฤติการเงินโลก แม้จะไม่ได้เกิดในประเทศไทยโดยตรง แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจ ที่มีความเชื่อมโยงถึงกันผลกระทบย่อมเกิดขึ้นเสมอ ไม่มากก็น้อย แต่ส่วนใหญ่มุมมองเศรษฐศาสตร์ เรามักมองแค่อัตราแลกเปลี่ยน การส่งออก และนำเข้า
ช่วงแรก ออกจากตลาดหุ้นไปยังสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่นทองคำ เงินดอลล่าห์ หรือ พันธบัตร เป็นต้น เป็นช่วงที่เกิด ตามหลักการบริหารความเสี่ยง ในช่วงชุลมุนไม่มีใครประเมินความเสียหายจากวิกฤติได้ถูก ไม่รู้ว่าจะรามจะไปไกลแค่ไหน การขายหุ้น เพื่อถือเงินสด เพื่อรอซื้อของดีราคาถูกหลังวิกฤติ หรืออาจจะนำเงินไปลงทุนใน safe haven จึงเป็นเรื่องปกติ อีกกรณีที่เจอบ่อยๆคือเป็นแรงขายจากเจ้าเงินทุน ที่เจอปัญหา จากวิกฤติการเงินเองโดยตรง เช่นกรณีวิกฤติซับไพร์มกองทุนจากสหรัฐ เช่นกองทุนจากวาณิชธนกิจ ต่างขายสินทรัพย์เพื่อนำเงินกลับไปเสริมสภาพคล่อง หรือตอนวิกฤติการเงินยุโรป ที่กองทุนจากธนาคารในสเปน อิตาลีต่างขายหุ้นจำนวนมาในตลาดหุ้นทั่วโลกเพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่องเป็นต้น
กราฟแสดงการเคลื่อนไหวของ Fundflow ในตลาดหุ้นไทยช่วงวิกฤติซับไพร์มปี 2550-2012
จากกราฟ S&P 500 เทียบกับอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนจากพันธ์บัตร พบว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ QE1 QE2 มีผลอย่างมากต่อตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นในกลุ่ม TIPS (Thailand, Indonesia และ Philippines)
การเตรียมรับมือ
ผมนำบทความทั้งสามตอน มาให้ดูเพราะไม่อยากให้ประมาท ถ้าเราพิจารณาดีๆจะพบว่าวิกฤติการเงินโลก เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะยุคหลังปี 1990 วิกฤติการเงินเกิดบ่อยขึ้น ในช่วงเวลาที่ใกล้กัน ระยะห่างประมาณ 5 ปีเท่านั้น และการเกิดวิกฤติการเงินก็มีความรุนแรง ความเสียหายมากกว่าในอดีต
การเกิดวิกฤติการเงิน ยังส่งผลต่อตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นขึ้นและลง ตรงนี้เองถือว่าเป็นจุด ที่ทำให้นักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติการเงิน ช่วงแรก โอกาสความน่าจะเป็นสูงมากที่ตลาดหุ้นจะตกลง เนื่องจากการไหลออกของกระแสเงิน หุ้นส่วนใหญ่เกือบ 80% ล้วนเข้าสู่แนวโน้มขาลง นั้นทำให้ถ้าเรามีโอกาสเลือกเก็บหุ้นพื้นฐานดี ราคาถูก แน่นอนว่าเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย เงินทุนไหลเข้าตลาดกลับสู่ภาวะขาขึ้น เมื่อนั้นเราก็จะได้กำไร
กรณีที่เรามีหุ้น ขณะเกิดวิกฤติการเงิน ขณะที่ตลาดหุ้น Crash เป็นขาลงชัดเจน เราไม่ควรเสี่ยงที่จะซื้อหุ้นเฉลี่ยขาลง เพราะการตกลงรุนแรงแบบนี้ยากที่จะประเมินว่าจะหยุดเมื่อไหร่ โดยส่วนตัวจากการที่ผลรอดจากวิกฤติการเงินซับไพร์มรอบที่แล้ว ผมยึดหลักการตัดขาดทุน Cutloss เพื่อจำกัดความเสียหาย หุ้นหลายตัวในช่วงที่ตลาดลงเนื่อง เข้าสู้ขาลงรุนแรง ราคาตกจากจุดสูงสุดก่อนเกิดวิกฤติมาถึง 50% ดังนั้น การตัดขาดทุน เพื่อถือเงินสดจึงเป็น solution ที่ได้เปรียบที่สุด การตัดขาดทุนทำได้ในแบบ SAP(Short again port) ขายออกแล้วกลับเข้าไปซื้อใหม่ โดยเฉพาะหุ้นพื้นฐานดี หุ้นที่เน้นการบริโภคในประเทศ ค้าปลีก หุ้นสาธารณูปโภค และหุ้นปันผลเยอะ ถ้าเกิดขาลงจริงทำ SAP ยังไงก็คุ้ม ได้หุ้นเยอะราคาถูก ดีกว่าถือทนติดดอยหรือถัวเฉลี่ยขาลงเยอะ หรือถ้าความชำนาญด้านการเก็งกำไรและการป้องกันความเสี่ยง เราก็สามารถใช้ อนุพันธ์(tfex) หรือออฟชั่น ในการทำกำไรและชดเชยความเสียหายจากตลาดขาลงได้เช่นกัน
ยามช่วงเกิดวิกฤติการเงิน เราควรอ่านข่าวติดตาม ข่าวสารอย่างรอบคอบ รอบด้าน ไม่ควรเสพข่าว เสพบทวิเคราะห์จากกูรู คนใดคนหนึ่ง แบบเฉพาะแหล่งเฉพาะที่ เชื่อถือจนมากเกินไป เพราะส่วนใหญ่ออกมาเดา มากคาดการณ์ วิกฤติการเงินโลก ผิดมากกว่าถูก เพราะเขาก็เป็นคนวงนอกไม่ต่างอะไรกับเรา การเดาส่วนใหญ่จึงเป็นมุมมองที่คิดว่าจะเป็น แต่มันก็มันจะไม่เป็นไปตามนั้น
ในช่วงวิกฤติการเงินซับไพรม์ตอนปี 2551 ผมยังจำได้ว่ามีกูรู หลายคนที่ออกมาวิเคราะห์ว่าตลาดหุ้นไทยไม่มีปัญหา หลีกเลี่ยงเฉพาะหุ้นส่งออก พื้นฐานบริษัทดี เศรษฐกิจดี ตลาดหุ้นที่ลงเป็นการลงปรับฐานชั่วคราว ตูม ปรากฏว่าแมงเม่าติดดอยกันเป็นแถบ แต่สถาบัน กองทุน ขายเทกระหน่ำ ฝรั่งต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องหลายเดือน ดัชนีจาก 900 ไปจบที่ 380 เรียกว่าหักปากกาเซียน ช๊อกไปตามๆกัน
ดังนั้นควรฟังข้อมูลให้รอบด้าน จากหลายแหล่ง เลือกรับข้อมูล ข่าวสารจากต่างประเทศด้วยเสมอ ดัชนีตัวหนึ่งที่นิยมในการสังเกตการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโลกนั้นคือ VIX(volatility index) มีโอกาสจะนำมาเล่าให้ฟังต่อไป
แต่จงอย่าประมาท เซียนหุ้นร้อยล้าน พันล้านเมืองไทย ก็คือนักลงทุนที่ทำกำไรได้ในช่วงตลาดหุ้นฟื้นตัวหลังวิกฤติการเงิน ทั้งปี 2540 และปี 2551 แทบทั้งนั้น สิ่งที่พวกเขามีแตกต่างจากแมงเม่าทั้งหลาย ที่เจ็บตายบนดอยนั้นคือความพร้อม พวกเขารู้จักการรับมือกับวิกฤติได้ดี และคว้าประโยชน์จากโอกาสที่มาถึงได้ ซึ่งถ้าเราเตรียมพร้อมให้ดี วิกฤตินั้นจะเป็นโอกาส สร้างให้เราเป็นเศรษฐีเงินล้านได้อย่างแน่นอนครับ
วิกฤติการเงินโลก เกิดตลอดในช่วง 30 ปีมานี้ และมีผลให้เกิดแนวโน้มขาลงกับตลาดหุ้นไทยดังภาพ
- http://www.fairloanrate.com/top-ten-financial-crises-in-world-economic-history/
- http://www.businesspundit.com/10-of-the-worlds-most-dramatic-financial-crises-and-their-lessons/
- http://debtloansmanagement.blogspot.com/2012/01/ten-most-nasty-financial-crises-in.html
- http://world-crisis.net/
- http://www.worldfinance.com/