ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ชนะอย่างไม่เสี่ยงเกินตัว

คำเปรียบเปรยเกี่ยวกับตลาดหุ้นที่ได้พบได้บ่อยที่สุดคือ "ตลาดหุ้น" เปรียบเหมือนกับ "สนามรบ" เพราะความน่ากลัว ความร้ายกาจของคนที่คอยจ้องจะทำกำไรจากเงินลงทุนของผู้อื่น อยู่ทุกเวลา ตลาดหุ้น มีการแข่งขันทำกำไรด้วยเม็ดเงินมหาศาล มีกลยุทธเทคนิคและรูปแบบการเอาชนะที่หลายหลาย มีคู่แข่งขันทั้งรายใหญ่ สถาบัน กองทุน กองทุนต่างชาติ และนักลงทุนรายย่อย ที่ล้วนแต่จ้องจะทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นในสนามแห่งนี้ แต่จริงๆแล้วคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดนั้นไม่ใช่อื่นใด แต่เป็นตัวของเราเอง



เริ่มเข้ามาในตลาดส่วนใหญ่ทุกคนล้วน เข้ามาเพื่อการแสวงหากำไร ด้วยความคิดที่ว่าจะต้องเข้ามาทำกำไรจากส่วนต่างราคาของหุ้น ดังนั้นภาพของแมงเม่าในตลาดหุ้น จะเหมือนกันคือ พยายามวิ่งหาหุ้นเด่น สแกนหา หรือไม่ก็รอกูรู ผู้รู้มาชี้ทาง ให้จากนั้นก็แห่กันเข้าไปไล่ซื้อ หวังทำกำไร แต่ผลลัพธ์มันไม่สุขสมอารมณ์หมาย แบบในนิยายสามเล่มร้อย มิเช่นนั้นคนร้อยละ 80 ในตลาดหุ้นคงกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านกันไปหมดแล้ว แต่ส่วนใหญ่ในโลกของการเก็งกำไร แมงเม่ากับขาดทุน ล้มหายตายจาก โทษดินโทษฟ้า โทษเจ้ามือ โทษคนอื่นที่ทำให้ต้องขาดทุน หรือไม่ก็จัดหากระสุนเพิ่มทุน เพื่อหวังเสี่ยงโชคบนการเล่นในรูปแบบเดิมๆ ได้สลับเสียแบบเพลียๆกันต่อไป


ถ้าเล่นหุ้นแล้วขาดทุนคำแนะนำของผมคืออย่าโทษใครให้โทษตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วการตัดสินใจซื้อหรือขายมันเกิดจากตัวเราเอง ดังนั้นถ้าเราอยากเป็นผู้ชนะในเกมส์เก็งกำไร เราต้องเริ่มจากการชนะตัวเราเองให้ได้ก่อน โดยต้องพยายามเอาชนะอารมณ์ ควบคุมจิตใจของตัวเราเองให้ได้ บังคับให้ตัวเองเล่นไปตามแผนที่วางไว้ ไม่ใช่อ่อนไหวไปกับการชี้นำตามหมากที่ผู้ชนะวางไว้ในตลาด โดยใช้อารมณ์ความโลภ ความกลัว ในตัวเรามาเป็นตัวกระตุ้น และการบิดเบือนความคิด 


คนที่เล่นหุ้นใหม่ๆมักมีแนวคิดที่อยากรวย อยากได้กำไรครั้งละมากๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่า ข้าเจ๋ง ข้าเก่ง วิธีคิดแบบนี้เป็นอันตรายในสนามรบแห่งนี้ เปรียบเหมือนทหารใหม่เพิ่งออกรบ ที่วิ่งถือดาบออกไปกลางสมรภูมิหวังฆ่าฟันข้าศึก แต่สุดท้ายก็โดนธนูยิงตายก่อนถึงตัวศัตรู ความคิดอยากรวยหรือโลภ มันกระตุ้นให้แมงเม่าหน้าใหม่ พยายามใช้เงินจำนวนมากจากเงินเก็บ จากครอบครัว(กรณีบ้านรวย) หรือบางคนก็ใช้มาร์จิ้น(ทั้งที่เพิ่งหัดลงทุน)ที่มี เสี่ยงเล่นเสี่ยงแท่งลงในเกมส์เก็งกำไร เพราะหวังผลตอบแทนที่มากและงดงาม โดยไม่พิจารณาว่าเป็นการเสี่ยงที่เกินตัว เพราะเมื่อกำไรก็สุขสมก็ประกาศก้องว่าได้กำไรเป็นหมื่นเป็นแสนบาท แต่ยามขาดทุนก็เก็บเงียบ แต่ไม่นานก็กลับไปเสี่ยงแบบเดิมอีก เป็นเช่นนี้ต่อไปไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ในการเอาชนะตลาดที่แท้จริง 


ถ้าคิดที่จะทำกำไร คิดจะรวยเร็ว มันเป็นหลักมันจะชี้นำการมองการรับรู้และการคิด ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นภาพรวมความเสี่ยง อันตรายที่แอบแฝงและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าคิดที่อยากจะรวย อยากมีสิบ มีร้อยล้านแบบนักเล่นหุ้นคนอื่น แต่สิ่งแรกที่ต้องคิดคือ ทำอย่างไรให้ทุนเราอยู่ครบ นำเงินเข้ามาในตลาดหุ้นมีแสน ต้องอยู่ครบแสน มีล้านควรรักษาให้ครบล้าน เพราะถ้าเราสามารถรักษาเงินต้นเราได้แล้ว มันจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน ไม่ประมาท ไม่หลงไปกับกลอุบายในตลาดหุ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งการทำกำไรมันจะสามารถสร้างได้เองตามสภาวะตลาดและกระแสเงินที่ไหลเข้ามา เรียกว่ากินตามน้ำทำกำไรได้ตามสมควร(ประเภทที่จะหา 100% 200% ก็มาเกินความจริงไป) 


สองปีแรกของการลงทุน ไม่จำเป็นที่ต้องนำเงินทั้งหมดมาสร้างให้พอร์ตลงทุนใหญ่โต เพียงเพราะหวังจะรวยเร็วหรือจะเอาไว้โม้คนอื่นๆ สิ่งสำคัญคือควรสร้างพอร์ตลงทุนให้มีขนาดเหมาะสมและคล่องตัว เพราะปีแรกเป็นปีแห่งการเรียนรู้ เราควรหาความรู้ ศึกษาและทดลองเล่นหุ้นในสไตล์ต่างๆให้มาก เพื่อจะได้สร้างรูปแบบการเล่นหุ้น ระบบเทรด ในสไตล์ที่เหมาะสมกับตัวเรา จริตของเรา กล้าที่จะลองผิดลองถูก เรียนรู้จากความผิดพลาด หาจุดอ่อน ข้อบกพร่องของตนเอง จดบันทึกให้เป็นประสบการณ์ ที่สำคัญคือเล่นหุ้นแต่ต้องรักษาเงินทุนให้คงอยู่เป็นหลัก ทำกำไรได้แบบพอประมาณ แต่ต่อเนื่องเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการเติบโตของพอร์ตลงทุนในอนาคตต่อไป 


เมื่อเวลาผ่านไปไม่ขาดทุนต่อเนื่อง เอาตัวรอดในตลาดหุ้นได้ ปีที่สาม เราจะรู้จักตลาดหุ้นมากขึ้น มีแนวทางการเล่นหุ้นที่ชัดเจน เมื่อนั้นการทำกำไรจะเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยาก และที่สำคัญมันจะมั่นคงและยั่งยืน บนความเสี่ยงที่พอเหมาะกับตัวเรา ถึงเวลานั้นการขยายขนาดพอร์ตลงทุน หรือการทำ leverage เช่นการใช้มาร์จิ้น หรือการนำเงินสะสมเงินมรดก ก็จะทำให้กำไรที่ได้งอกงามและเติบโต จนสร้างความมั่นคง เพื่อไปสู่อิสระภาพทางการเงินได้ในอนาคต จงจำไว้เสมอว่าการเล่นหุ้นเก็งกำไรให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช้การเสี่ยงไปทั้งหมด เสี่ยงเพื่อหวังจะรวยในเวลาอันสั้น ถ้าเป็นแบบนั้นมันคือการพนัน ซึ่งปลายทางที่รออยู่คือ "ความหายนะทางการเงิน" ของผู้เล่นครับ