ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ว่าด้วย P/E

P/E เป็นอัตราส่วนทางการเงิน ยอดนิยมและสำคัญที่เราควรทำความรู้จักไว้ เพราะค่านี้เป็นค่าที่บ่งบอกความถูกและแพงของหุ้น หลายคนใช้เป็นเงื่อนไขในการซื้อ ขาย หุ้นอีกด้วย สืบเนื่องจากอารมณ์ค้างจากเมื่อวานที่คุณเรื่อง P/E กับพี่คนหนึ่ง ระหว่างนั่งซุ่มหัวกันล้วงแคะแกะเกางบการเงินของบริษัทหนึ่งในร้านอาหาร มันมีประเด็นเรื่อง P/E ที่ผมยังไม่เคลียร์เลยใช้เวลาทั้งวันทำการบ้านเพิ่ม ผลก็คือ อินเตอร์เน็ตช่วยได้ กระจ่างศาสตร์ขึ้นมาก ตอนนี้เลยอยากเขียนถึง P/E เพื่อแชร์ความรู้ไว้บนบล็อคสำหรับท่านอื่นๆที่ผ่านเข้ามา เผื่อว่าจะได้เก็บนำไปใช้ประโยชน์กัน





P/E คืออะไร
P/E หรือ PER คือ Price/Earning per Share (EPS) เป็นอัตราส่วนที่ใช้อนุมานความถูกและแพงของตัวหุ้น(กิจการของบริษัท) โดยใช้ราคา หารด้วย EPS(กำไรสุทธิต่อหุ้น) ค่าที่ได้เป็นจำนวนเท่า โดยถ้ามองการเติบโตที่คงที่ ก็จะทำให้ทราบปีที่จะคุ้มทุน

ตัว EPS นี่ละครับ เป็นเหมือนหัวใจของ P/E อีกตัว ถ้าดูข้อมูล P/E ที่ใช้กัน EPS อาจจะใช้ข้อมูลผลประกอบการในอดีต 4Q ย้อนหลังมาคิด หรืออาจจะใช้ข้อมูลการประมาณการผลประกอบการ(เดา)ในอนาคตมาร่วมด้วย

P/E ไม่คงที่แปรผันตามเวลา
เนื่องจาก P/E มันมีการคำนวณอ้างอิงข้อมูล ณ เวลาในขณะใด ขณะหนึ่งเพราะฉนั้น การที่หุ้นมี P/E สูงในปัจจุบันไม่ได้หมายความว่าจะแพงและมีค่าสูงตลอดไป เพราะอนาคตถ้า บริษัททำผลประกอบการได้ดี EPS สูง ค่า P/E ก็จะลดลง แต่แน่นอนว่าการที่ P/E ในปัจจุบันสูงอาจเพราะ ราคาสะท้อนความคาดหวังต่อผลประกอบการไปแล้ว ถ้าอนาคตผลประกอบการออกมาดี ก็ดีไป แต่ถ้าออกมาเน่า ค่า EPS ต่ำละก็ หุหุหุ

หุ้นวัฎจักรไม่ควรใช้ค่า P/E แต่อย่างเดียว
ธรกิจที่เป็นวัฏจักรมีขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจ และตามอุปสงค์อุปทานของวัตถุดิบ เช่น เหล็ก เดินเรือ อสังหาริมทรัพย์ แร่ธาตุ ถ่านหิน การใช้ P/E เพื่อตัดสินใจว่าควรจะซื้อหุ้นตัวนั้นหรือไม่ ก็อาจจะไม่เหมาะสมนัก เพราะถ้าช่วงวิกฤตขาลงของธุรกิจ ค่า P/E ของหุ้นอาจถูก แต่ถ้าผ่านพ้นไปสู่จุดขาขึ้นได้ค่า P/E ก็จะปรับตัวสูงขึ้นตาม

การประมาณแบบอ้างอิง(Relative)
สิ่งหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการตัดสินใจเลือกหุ้นลงทุนนั้นคือการใช้ P/E ของหุ้นเปรียบเทียบกับ P/E ของหุ้นตัวอื่นๆในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงการเทียบ P/E ของหุ้นกับ P/E ของกลุ่มอุตสาหกรรม ก็จะทำให้ทราบความถูกแพงของหุ้นได้ เช่น หุ้น S มี P/E = 16 ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทอนิคมีค่า P/E ประมาณ 8 นั้นหมายความว่าราคาหุ้น S ในตลาด ได้สะท้อนความคาดหวังของกิจการไปค่อนข้างมากถ้าเทียบกับตัวอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรม

การใช้ P/E เปรียบเทียบระหว่างหุ้นควรเทียบระหว่างหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน มากกว่าการเทียบข้ามกับหุ้นคนละกลุ่ม เพราะจะได้ค่าสัมพัทธที่มีประสิทธิภาพและสะท้อนความเป็นจริงมากกว่า หัวใจสำคัญของการจะใช้ค่า P/E ที่เหมาะสมนั้นเราควรจะเข้าใจธุรกิจและกิจการนั้นก่อนเสมอ

คุณภาพของ P/E
เนื่องจาก ค่า P/E มีการนำเอากำไรต่อหุ้นมาคำนวณด้วย ดังนั้นหุ้นที่ค่า P/E ต่ำบางครั้งก็อาจจะดีไม่เท่ากับหุ้น P/E สูงเสมอไป ถ้ากรณีความสามารถในการทำกำไรที่ไม่สูง และสม่ำเสมอ บางครั้ง P/E ที่ต่ำอาจจะเกิดจากกำไรจากรายได้ชั่วคราวเช่นการขายทรัพย์สิน ไม่ได้เกิดจาก กำไรจากตัวธุรกิจจริงๆ

หุ้นที่ผลกำไรไม่แน่นอน เช่นกลุ่มเกษตรที่มีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมมาเกี่ยว ทำให้ต้นทุนสูงในขณะที่ไม่สามารถขยับราคาขายตามต้นทุนได้ทัน ซึ่งอาจจะทำให้ค่า EPS ไม่สม่ำเสมอ หรือหุ้นบางกลุ่มสร้างกำไรด้วยการขยายกิจการ ใช้การกู้เงินเพิ่มเพื่อสร้างผลกำไรจากการขายสินค้า เช่นการลงทุนเรื่องเทคโนโลยี การขยายกำลังการผลิต ซึ่งในปีแรกอาจจะมีกำไรเพิ่ม แต่เมื่อต้องมีการปรับปรุงหรือลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มก็ต้องกู้เพิ่มอีก ลงทุนเพิ่มซึ่ง สังเกตุได้จากค่า ROA และค่า D/E

ดังนั้นการหาคุณภาพของ P/E จึงจำเป็นต้องมีการเอาข้อมูลอัตราส่วนการเงินอื่นๆมาร่วมพิจรณาและใช้ข้อมูลย้อนหลังประกอบ รวมถึงการทำความเข้าใจกิจการเพื่อคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคต

การวัดมูลค่าหุ้นด้วย P/E
ผมชอบ P/E ตรงที่คิดคำนวณง่ายไม่ซับซ้อน และที่สำคัญคือการประมาณ(เดา) มูลค่าของหุ้นในอนาคตได้ โดยหลักการณ์คือ คาดการณ์การเติบโตของ EPS ในอนาคต เพื่อนำมาคูณกับค่า P/E ที่เหมาะสม

การอนุมานค่า EPS
สิ่งที่จะทำให้คาดการณ์ EPS ได้แม่นยำคือต้องศึกษาธุรกิจ และดูโครงการการลงทุน ประเมินรายได้สุทธิและกำไรสุทธิ การอ่านงบการเงินย้อนหลัง เพื่อดูค่าใช้จ่ายและต้นทุนขั้นต้นว่าจะมีการเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงไหม? ดูความสามารถในการแข่งขัน แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรม เป็นต้น

เพื่อคำนวณค่า EPS บางครั้งเราสามารถใช้ข้อมูลการคาดการณ์การเติบโตของบริษัทจากนักวิเคราะห์ หรือจากการให้ข้อมูลจากผู้บริหาร มาคำนวณหา EPS ในอนาคตได้ แบบหยาบๆโดยทำบนสมมติฐานที่ว่า EPS จะไม่ลดต่ำลงกว่าปีก่อน วิธีคิด
EPSอนาคต = EPS ปีก่อน + %Growth
แต่การประมาณอีกวิธีที่จะแม่นยำมากกว่าคือการประมาณในระยะเวลาสั้นๆ เช่นทราบค่า EPS ของ 2 Q แล้วประมาณค่า EPS อีก 2 Qที่เหลือ แบบนี้จะแม่นยำกว่าการประมาณข้ามปี

การอนุมานค่า P/E
การอนุมาณค่า P/E ค่อนข้างจะยาก แต่ผมชอบใช้เทคนิคของคุณ สันติ สิงหวังชา ที่ใช้ปัจจัยต่างๆเช่น
- การเติบโตของรายได้ : แนวโน้มอุตสาหกรรม , ความสามารถของคู่แข่ง , ความสามารถในการเพิ่มยอดขายของบริษัท
-ความสามารถในการควบคุมต้นทุน : อำนาจต่อรองเทียบกับ supplier , ความสามารถในการผลักภาระไปให้ลูกค้า
-ความผันผวนของรายได้และกำไร : ยิ่งผันผวนมาก ผมมองว่าคุณภาพจะค่อนข้างต่ำ
-ผู้บริหาร : ความซื่อสัตย์ , ความขยัน , ความเก่ง (ต้องระวังผู้บริหารที่ขี้โม้เก่งนิดนึง เพราะเราอาจจะคิดว่าฝีมือดีทั้งที่จริงๆแล้วอาจจะไม่ได้เรื่องเลยก็ได้)
-โครงสร้างการเงินของบริษัท : หนี้สินเทียบกับส่วนทุน , หนี้สินเทียบกับกำไร , เงินสดที่เหลืออยู่หักด้วยหนี้สิน

แล้วนำปัจจัย เป็นตัวคุณภาพมาสรุปเป็นเงื่อนไข เพื่อจัดกลุ่มคราวๆ สำหรับการประมาณค่า P/E ที่เหมาะสม

หุ้นที่มีคุณภาพแย่ (หุ้นเกรด F) กิจการที่ขาดทุน หนี้สินเยอะๆ หรือกำไรเอาแน่เอานอนไม่ได้ ปีนึงกำไร ปีนึงขาดทุน หรือพวกที่ผู้บริหารไว้ใจไม่ได้ พวกนี้ไม่ต้องประเมิน pe หรอกครับอย่าไปซื้อมันเลยดีกว่า

หุ้นที่มีคุณภาพกลางๆ (หุ้นเกรด C) หนี้สินกลางๆ รายได้และกำไรไม่ค่อยเติบโต หรือเติบโตช้าไม่เกิน 5% ต่อปี pe ควรจะอยู่แถวๆ 5-6

หุ้นคุณภาพดีพอใช้ (หุ้นเกรด B) หนี้ไม่มาก รายได้ไม่ผันผวนโตอย่างสม่ำเสมอ กำไรในอนาคตเติบโตระดับ 5-15% ต่อปี pe น่าจะประมาณ 6-9


หุ้นคุณภาพดี (เกรด A) หนี้น้อย หรือไม่มีเลย รายได้โตอย่างต่อเนื่อง กำไรในอนาคตคาดว่าจะโตในระดับ 15% ขึ้นไป pe เหมาะสมประมาณ 9-12หุ้นสุดยอด (Super stock) หนี้น้อยหรือไม่มี รายได้มั่นคงมากและโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ กำไรโตขึ้นในระดับ 20-30% ผู้บริหารเก่ง ขยัน ซื่อสัตย์ แนวโน้มธุรกิจดี มีอำนาจในการต่อรองต่อ supplier สูง อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่แข่งขันกันเรื่องราคาเป็นหลัก สามารถผลักภาระให้ลูกค้าได้ ฯลฯ พวกหุ้นชั้นยอดพวกนี้ pe ตั้งแต่ 12 ขึ้นไปจนถึง 20

แต่บางครั้งกว่าจะได้ข้อมูลการประมาณค่า P/E ที่เหมาะสมอาจจะต้องใช้เวลาในการอ่านงบการเงิน เพื่อศึกษาถึงคุณภาพของบริษัท ตรงนี้ต้องใช้ประสบการณ์ในการประเมิน

ก่อนจะตีเป็นค่า P/E ของหุ้น โดยส่วนตัวผมถ้าไม่มีเวลา ผมก็จะใช้ค่า P/E ของปีหรือ Q ก่อนหน้าที่มีข้อมูล โดยคิดในสมมติฐานว่า บริษัท P/E จะไม่แพงไปมากกว่านี้(หมายความว่า ผลประกอบการไม่แย่ลงไป) หรืออาจจะพิจารณาการโตของธุรกิจในปีหน้าร่วมด้วย ถ้าแย่มากอาจจะใช้ค่า P/E ของอุตสาหกรรม ในการคำนวณ

โดยค่า P(ราคาอนาคต) = P/Eคาดการณ์ * EPSคาดการณ์

ราคาในอนาคต ก็ทำให้เราทราบได้ว่า การซื้อหุ้นของปัจจบันนี้มันคุ้นค่าหรือไม่ ถ้าได้ราคาหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าในอนาคตมากๆ ย่อมเป็นการดีในการลงทุน
แต่ การเลือกหุ้น P/E อาจจะไม่ใช่ค่าตัวเดียวที่เราพิจารณา แล้วจบเพราะบางครั้งของถูกอาจจะไม่ใช่ของดี เราจึงจำเป็นต้องดูค่าอัตราส่วนการเงินอื่นๆประกอบการตัดสินใจ รวมถึงต้องวิเคราะห์คุณภาพกิจการ เข้าใจถึง Business model ให้ดีก่อนลงทุนด้วย

PEG สักนิด
ก่อนจะจบเรื่อง P/E ของพูดถึงญาติผู้น้องคือ PEG หรือ PE Growth สักนิด เจ้าตัวนี้ช่วยบ่งบอก คุณภาพเบื้องต้นของ P/E ได้ว่า ที่ว่ามากตอนนี้มันแพงจริงไหมถ้าเทียบกับอัตราการเติบโตในอนาคต
PEG = P/E / %Growth

เช่น ถ้าหุ้น B มี P/E = 10 แต่บทวิเคราะห์ ผู้บริหารคาดการณ์ว่า Growth 20% ค่า PEG = 0.5
หุ้น A มี P/E = 5 ,ค่า Growth = 5% ดังนั้น PEG = 1

หุ้นที่ค่า PEG มากกว่า 1 ก็จัดว่าแพง ,หุ้นที่ PEG น้อยกว่า 1 ยิ่ง PEG น้อยกว่า 1 ยิ่งดีครับ แสดงว่าไม่แพงไปเมื่อเทียบกับการโตอนาคต


สรุป
การเป็นนักเก็งกำไร ก็ไม่ควรมองข้ามความรู้ความเข้าใจพื้นฐานนะครับ เพราะหุ้นนั้นมีบริษัท มีผลประกอบการเป็นตัวรองรับ Demand supply ของราคา แม้บางครั้งมันจะไม่สมเหตุผลก็ตาม แต่การรู้พื้นฐานช่วยให้เราเก็งกำไรบนหุ้นที่ดีและปลอดภัยได้มากขึ้น

ที่สำคัญการเก็งกำไร บางครั้งวิ่งตามข่าวผลประกอบการ การรู้การวิเคราะห์พื้นฐานทำให้ เก็งค่า EPS รายไตรมาสได้ถูก และใช้ตัวนี้เป็นช่องในการทำกำไรรายรอบ (เคล็ดลับการเทรดของผม) ได้ดีทีเดียว ค่า P/E ที่เราฟังนักวิเคราะห์พูดก็ควรลึกซึ้งกับมันด้วย อย่างฟังอย่าเดียว อย่าไปจำว่า P/E มากไม่ดี หรือ P/E ต่ำแล้วดี เพราะมันไม่ง่ายแบบนั้นเสมอไป จงเข้าใจและเรียนรู้ ดีที่สุดครับ


อ้างอิง