ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ว่าด้วย GAP



เวลามีคนพูดถึง GAP ว่าหุ้นตัวนั้นเปิด GAP แล้ว แต่ไม่ปิด GAP ถ้าไม่รู้จักอาจจะ ฟังมักจะดูเท่ห์จัง เพราะหลายคนให้น้ำหนักของ GAP แล้วนำการเกิด GAP ไปใช้ให้เกิดโอกาส จริงๆแล้ว GAP เป็นเครื่องมือรูปแบบราคาทางเทคนิค ที่สะท้อนถึงจิตวิทยาตลาดได้เป็นอย่างดี การตีความและการนำไปใช้ บางคนอาจจะมองไม่เหมือนกัน วันนี้นำเรื่องของ GAP มาฝาก

ช่วงนี้มีหุ้นหลายตัวที่โชว์ GAP ให้เราเห็นบ่อยๆ จึงคิดว่าควรนำ GAP มาทำความรู้จักกับทุกท่าน โดยทั่วไปแล้วการเกิด GAP จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาแบบไม่ต่อเนื่อง ฉับพลันทันทีทันใดในรูปแบบของการก้าวกระโดด ทั้งในทิศทางขาขึ้นและขาลงของราคาหุ้น จนทำให้เกิดช่องว่างของราคาขึ้นมา


GAP ขาขึ้นนั้นจะสะท้อนความแข็งแรงของตลาด และความต้องการของแรงซื้อที่มาก เช่นการแย่งกันซื้อแบบรุนแรง ในทิศทางขาลง GAP ก็สะท้อนการอ่อนตัวของราคาหุ้นแบบถดท้อย จนเกิดการแย่งกันขาย แบบมีนัยยะสำคัญ เช่นการตอบสนองต่อข่าว หรือปรากฏการณ์ผลกระทบจากภายนอกต่อตัวหุ้น

GAP สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทตามรูปแบบการเคลื่อนตัวของแท่งเทียน ดังนี้ คือ


1. Common Gap : เป็น GAP แบบธรรมดาที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ มีความสำคัญน้อยจะเกิดได้ในช่วงที่มีการซื้อ ขาย เบาบาง สังเกตุดูได้จาก Volume ของหุ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ซึ่งจะมาพร้อมกับการแกว่งตัวของราคาออกด้านข้าง sideway เรียกได้ว่าเจอ GAP แบบนี้ก็ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นตกใจ


2. Breakaway Gap : การกระโดดของราคาทั้งในทิศทางขาขึ้นและขาลง เรียกได้ว่าจะเกิดเมื่อมีการฟอร์มรูปแบบทิศทางของราคาที่ชัดเจนแล้ว และมีการกระโดดของ Volume เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ที่น่าสังเกตุอีกประการคือดัชนีเช่น RSI หรือ STO อาจจะยังไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นทันกับการเปลี่ยนแปลงของราคาในระหว่างวัน ตัวนี้เจอบ่อยกรณีที่มีข่าวดีหรือร้ายออกมากระทบกับตัวหุ้น
Breakaway Gap ถ้าเกิดแล้ว ส่วนมากจะไม่สามารถปิดได้ในทิศทางเดียวกัน จะต้องมีการกลับตัวเพื่อเปลี่ยนทิศาทางของราคาก่อนจึงจะสามารถปิดได้ และนอกจากนี้ GAP ยังสามารถนำมาใช้เป็นแนวรับ แนวต้านของการเคลื่อนตัวของราคาได้อีกด้วย

3. Runaway Gap : ตัวนี้จะมักเกิดตามหลัง Breakaway Gap เมื่อทิศทางของราคาชัดเจน และมีความมั่นใจมากขึ้น ประกอบกับ volume มีมาต่อเนื่อง บางตำราก็กำหนดให้ Runaway GAP เป็นตัว หลักไมล์วัด ระยะการวิ่งของราคาในทิศทางนั้นโดย Runaway GAP จะเกิดที่ครึ่งทางของราคานับจากที่เกิด Breakaway Gap หรือเรียกได้ว่าเป็นจุดบอกการกลับตัวในทิศทางตรงข้ามที่กำลังจะมาถึงในอีกครึ่งทางข้างหน้า และแน่นอนว่าถ้าเป็น Runaway GAP จริง(ไม่ใช่ common gap) ตัว GAP จะไม่ถูกปิดลงก่อนครับ

4. Exhausting Gap : GAP สุดท้ายที่จะอาจจะเกิดก่อนจะมีการกลับตัวของราคา เป็น GAP ปลายทาง กรณีที่เป็นขาขึ้น ถ้าเกิด Exhausting Gap ก็จะเป็นการเตือนถึงการหมดแรงในขาขึ้น เป็นการกระโดดครั้งสุดท้ายก่อนจะจบรอบในทิศทางนี้ แน่นอนว่าถ้าเจอ Exhausting Gap ในขาขึ้นก็ควรที่จะทยอยออกมิใช่รับเพิ่มนะครับ Exhausting Gap มีโอกาสที่จะถูกปิดหรือไม่ก็ได้


GAP นี้ในขาขึ้นต้องระวัง เพราะเป็น GAP ชมดอยล่อแมงเม่า ควรจะพิจารณา RSI ถึงค่า Overbought ควบคู่ไปด้วยครับ ก่อนที่จะเข้าซื้อตามไป

5. Cluster or Island Gap ตัวนี้เป็นลักษณะการบ่งบอกถึงการกลับทิศอีกตัว การเกิด GAP สองฝั่งของทิศทางราคา เช่นในกรณีที่เกิด Exhausting Gap ในขาขึ้น แล้วไม่มีการปิด GAP แล้วเมื่อเกิดการกลับตัว ในเวลาต่อมาทำให้เกิด Breakaway Gap ในทิศทางขาลงต่อ เพื่อยืนยันขาลง ผลก็คือจะเกิดเกาะของกลุ่มราคา แน่นอนว่าการติดเกาะนี้ ก็คือการติด ดอยนั้นเองครับ



การเกิด GAP ไม่จำเป็นต้องเกิดพร้อมกันทั้ง หมด ส่วนมากที่จะเจอคือ Common GAP และ Break away GAP และการใช้ GAP คู่กับ Chart Pattern ใน TF ระดับนาทีจะมีประโยชน์มากกับนักลงทุนระยะสั้น

ผู้ลงทุนระยะกลางและยาวก็สามารถ นำความหมายที่ซ่อนอยู่ของ การเกิด GAP มาใช้เพื่อสร้างโอกาสได้ แต่ว่าสิ่งที่แน่นอนมักไม่มีอะไรแน่นอนเสมอไป การนำ GAP ไปใช้ก็เป็นเพียงการนำรูปแบบราคามาประกอบร่วมกับการตัดสินใจด้วยเครื่องมือทางเทคนิคชนิดอื่นๆ



ตัวอย่าง RATCH ตอนข่าวการขายหุ้นของ BanPu ทำให้เกิด Downside Breakaway GAP เราสามารถเข้าซื้อในจุดต่ำสุดของ GAP และถือรอเพื่อให้ราคาทดสอบแนวต้านของ GAP เพื่อทำกำไรในทิศทางขาขึ้นต่อไป

อ้างอิงจาก
http://www.investopedia.com/