ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เทคนิคอล เป็นแค่ “ปาหี่” แบบเขาว่าจริงหรือ???

ถ้ามีคนถามว่าผีมีจริงหรือไม่ ผมคงตอบว่าไม่รู้ เพราะผมไม่เคยเจอ และไม่เคยศึกษาเรื่องวิญาณหรือเรื่องเล้นลับอย่างจริงจัง แต่ผมคงไม่ไปตัดสิน หรือฟันธงอะไรจากความไม่รู้ หรือรู้เท่าที่มีของตนเอง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการจะตัดสินอะไร ต้องมองจากข้อมูล จากสิ่งที่ปรากฏเป็นจริง



ตลาดหุ้นเป็นที่บรรจบกันของความเห็นที่แตกต่าง เสมอเพราะความเชื่่อความเห็นที่แตกต่างในเรื่องต่างๆ มักจะเป็นต้นกำเนิดของการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนแปลงของตลาด ไม่เพียงแต่เรื่องของทัศนคติมุมมองต่อตัวหุ้น หรือตัวตลาดเท่านั้น

กระบวนการคิดและการวิเคราะห์ก็ยังแตกต่างแบ่งออกเป็นสองขั่วหลักอีกด้วย ทางหนึงมองไปที่พื้นฐานธุรกิจ กิจการ อีกกลุ่มหนึ่งมองไปที่ ราคาและพฤติกรรมราคา

กลุ่มที่สนใจในการวิเคราะห์ราคา พฤติกรรมราคา จะเลือกใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ที่เรียกว่า "Technical analysis" และกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักเก็งกำไร ที่สร้างผลตอบแทนจากตลาดหุ้น ด้วยการซื้อขายกินส่วนต่างราคา

วันนี้ผมเห็นมีนักลงทุนบางคน โพสในเฟสบุ๊ค ว่า เทคนิคอล เป็นแค่ "ปาหี่" หลอกเด็ก ดูเขามั่นอกมั่นใจมาก เพราะยกเอาบทความหนึ่งในเว็บของกรุงเทพธุรกิจ มาอ้างอิง ผมเองไม่ได้แสดงความคิดเห็นค้านในกระทู้ของคนโพส เพราะคนที่มีความเชื่อสุดโต่ง อธิบายเช่นไรก็ยากจะรับฟัง แต่ผมจะนำเรื่องนี้ มาอภิปราย ในฐานะคนที่ศึกษา เทคนิคอล หรือ Technical analysis มาพอสมควร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนในเชิงความรู้กัน

เทคนิคอล จริงๆเอาไว้ทำอะไร?
เทคนิคอล ที่เรียกๆกัน มันมาจากคำว่า การวิเคราะห์เชิงเทคนิค เป็นการวิเคราะห์ราคาผ่าน กราฟแท่งเทียน และเครื่องมือดัชนี(indicator) ต่างๆ ซึ่งเบื้องหลังก็คือ โมเดล "คณิตศาสตร์"

คนใช้เทคนิคอล ปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกใช้ไว้เดาอนาคต ทำนายอนาคตราคา กลุ่มที่สองใช้เพื่อสังเกตพฤติกรรมราคา ใช้เพื่อหาตำแหน่งความน่าจะเป็น ในจังหวะการเข้าซื้อขายสอดคล้องกับพฤติกรรมราคา

สองกลุ่มนี้จะใช้เทคนิคอล ในมุมมองที่แตกต่างกัน การใช้เทคนิคอลเพื่อการเดา ก็คือเชื่อว่ามันจะเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ (การเดาก็แน่นอนว่ามันไม่สามารถจะบอกอนาคตได้) แตกต่างจากการใช้เทคนิคอลเพื่อเป็นการสังเกต ติดตามข้อมูล และเข้า betting ตามหลักความน่าจะเป็น ซื้อขายไปตามสัญญาณและไปบริหารจัดความเสี่ยง ด้วยกลยุทธ์จัดการเงิน(Money management) และการบริหารความเสี่ยง

ตัวอย่างสมการคณิตศาสตร์เบื่องหลัง เทคนิคอล เช่น Hull Moving Average


สมการคณิตศาสตร์เบื้่องหลัง ที่ใช้วิเคราะห์เครื่องมือเทคนิคอล

การแสดงผลในรูปแบบ indicator ให้สัญญาณซื้อขาย

ถ้าแยกกลุ่มไม่เดานี้ให้สูงขึ้นไป ตามความซับซ้อนของกลยุทธ์เช่นสาย Quant เขาใช้เทคนิคอลแบบไม่ต้องไปเดาอนาคต ไม่สนใจการขึ้นหรือลงสนใจในพฤติกรรมราคาเช่นกลุ่ม Grid System , Statistic Arbitrage, Mean Reversion  ดังนั้นมันเป็นข้อประจักษ์ข้อหนึ่งที่ว่า เทคนิคอล ไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อเดา อนาคตเพียงอย่างเดียว เพราะการใช้งานมันไม่ได้มีแค่แท่งเทียน แนวรับ แนวต้าน หรือเส้นตัดไปมา อย่างบางคนเข้าใจ


ตัวอย่างการใช้เทคนิคอล ด้วยโมเดลคณิตศาสตร์ กลยุทธ์ Mean Reversion

ตัวอย่างการใช้เทคนิคอล ด้วยโมเดลคณิตศาสตร์ กลยุทธ์ Grid System

ตัวอย่างการใช้เทคนิคอล ด้วยโมเดลคณิตศาสตร์ กลยุทธ์ Statistical arbitage


ถ้าจะอ้างแนวคิดของ David Aronson นักเทคนิคอล(วิเคราะห์ราคา+ปริมาณการซื้อขาย) ที่เก่งสาย Quant มาอ้างผมว่า ต้องไม่ใช่ตัดมาแค่บางส่วน ต้องทำความเข้าใจในบทบาทและมุมมองของเขาก่อน

David Aronson เขาแต่งหนังสือเรื่อง "Evidence Based Technical Analysis" ตอนปี 2006 และตัวเองทำวิจัย ร่วมกับการเป็น อาจารย์สอนเรื่อง technical analysis and data mining ที่ Zicklin School of Business เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ใช้และศึกษาเทคนิคอลมาตั้งแต่ยุคแรกๆ และเข้ามาทำงานใน wall street ตั้งแต่ยุคปี 1973 เป็นกลุ่ม nerd ที่นำเอาระบบคอมพิวเตอร์และระบบเทรดมาใช้ในตลาดหุ้นยุคแรกๆของ wall street



เขาเคยเป็นผู้บริหารกลยุทธ์ของกองทุนอย่าง AdvoCom Corporation หรือกลายมาเป็น Tudor Investment Corporation และกองเฮ็ดฟันด์อื่นๆ ที่ใช้เทคนิคอลและ data mining จนประสบความสำเร็จเจ้าหนึ่งในตลาด เขาไม่ใช่นักลงทุนจ๋าที่ดูแต่พื้นฐาน อ่านแต่งบการเงิน เขาวิเคราะห์พฤติกรรมราคาและใช้เทคนิคอลในการคำนวณโอกาส ความน่าจะเป็นการทำกำไร

แต่เขาไม่เชื่อเรื่องการ ทำนายอนาคต และเขาไม่เชื่อในทฤษฏีอีเลียตเวฟ หรือสายอาร์ทแบบแท่งเทียนทั้งหลาย ดังนั้นการเอาคำอ้างบางส่วนของเขาไปเหมารวมเทคนิคอลทั้งหมดแล้วสรุปว่ามัน "ปาหี่" เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะถ้าคนไม่ได้ศึกษาเทคนิคอลจริงๆ จะยิ่งเข้าใจผิดเพราะคิดว่า เทคนิคอลมันมีแค่สายอาร์ต หรือมีแค่กราฟแท่งเทียนอย่างเดียว

เทคนิคอล เป็นหลักวิชาหรือไม่ ?
เทคนิคอล นั้นว่าด้วยการวิเคราะห์ ข้อมูล บน 3 ชุดหลักนั้นคือ Price(OHLC), Volume และ Time โดย 3 ชุดกลุ่มข้อมูลนี้ จะมีความสัมพันธ์กัน และมีความสัมพันธ์กับข้อมูลในซีรีย์เวลาอื่นๆ

การวิเคราะห์เทคนิคอล ในด้านการประมวลผล ก็แบ่งแยกย่อย เป็น 2 สายนั้นคือ
1. สาย Art (วิเคราะห์จากการตีความ จากการมองการเกิดของแท่งเทียนและรูปแบบของแท่งเทียนในกราฟราคา) การตีความตามตำราได้จากการสังเกต การรวบรวมข้อมูลจากรูปแบบที่เกิดในอดีต เกิดซ้ำจำนวนมากๆจน สรุปเป็นสัญญาณการซื้อขาย

2. สาย Math คือกลุ่มที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล ด้วยโมเดลคณิตศาสตร์ เพื่อให้เกิดสัญญาณการซื้อขาย เข้าออก เบื้องหลังของการวิเคราะห์สายนี้ก็คือ คณิตศาสตร์และสถิติ ดังนั้น ถ้าคณิตศาสตร์และสถิติ คือหลักวิชา เทคนิคอล ที่ใช้คณิตศาสตร์ประยุกต์เป็นเครื่องมือ ก็คือหลักวิชาเช่นกัน

เทคนิคอลสาย Math เป็นอีกสายที่ ยังไม่ตาย แม้เริ่มมาตั้งแต่ยุค ยังไม่มีคนพิวเตอร์ สมัยก่อนปี 1980 แต่ปัจจุบันก็มีการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการตีพิมพ์ผลงาน วิชาการอยู่เรื่อย โมเดลใหม่ๆที่ออกมาใช้และเป็นที่ยอมรับหลังปี 2000 เช่น QQE, Relative Vigor Index, Hull Moving Average,Fractals, Gator Ossilator, Aroon Oscillator , Awesome Oscillator, Gann Activator และอื่นๆอีกมาก  

มันเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เทคนิคไม่ใช่แค่การอุปโลก แต่มันมีการวิจัย การพัฒนา การค้นคว้า และทดสอบ อยู่ต่อเนื่องเสมอ(แม้จะไม่มีให้เห็นมาก ในประเทศไทยก็ตาม)

สมาคมเทคนิคอล ที่ส่งเสริมการวิจัย พัฒนากลยุทธ์และเครื่องมือเทคนิคอล

สมาคมเทคนิคอล ที่ส่งเสริมการวิจัย พัฒนากลยุทธ์และเครื่องมือเทคนิคอล


สมาคม ที่ส่งเสริมการวิจัย พัฒนากลยุทธ์และเครื่องมือเทคนิคอล สถาบันนี้ยังตีพิมพ์งานวิจัย โมเดลคณิตศาสตร์และเทคนิคใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคนิคอลออกมาเรื่อยๆ และมีการจัดสอบ เพื่อกำหนดมาตรฐาน นักวิเคราะห์เทคนิคอล เพื่อให้เป็นมาตรฐานวิชาชีพ สำหรับนักวิเคราะห์ในอเมริกา


ตัวอย่าง งาน conference ทางเทคนิคอลงานใหญ่หนึ่งใน 10 ทางด้าน เทคนิคอล  

ตัวอย่าง งาน conference เกี่ยวกับระบบเทรดขั้นสูง

บทความทางวิชาการ ว่าด้วยการวิจัยพัฒนา เทคนิคศาสตร์ สถิติขั้นสูง ด้านเทคนิคอล

ตัวอย่าง LAB ที่วิจัยพัฒนากลยุทธ์ ระบบเทรด

วารสาร รายเดือนเกี่ยวกับเทคนิคอล 

เทคนิคอล มันสำคัญแค่ไหน?
ถ้าเป็นนักลงทุน ซื้อหุ้นกินปันผล แน่นอนว่าการศึกษาแต่พื้นฐาน สนใจกิจการก็เพียงพอ ตราบที่กิจการไม่เจ๊ง รายได้เติบโต มีปันผลทุกปี แค่นั้นก็พอ ไม่ต้องไปสนใจราคา สนใจวัฏจักรตลาด แต่ถ้า ต้องการผลตอบแทน จากส่วนต่างราคา ไม่ว่าจะถือสั้นในวัน หรือถือยาวข้ามปี คุณก็คือนักเก็งกำไร ดังนั้น "ราคา" และ "ภาวะตลาดหรือวัฏจักรตลาด" ย่อมเป็นปัจจัยที่ ต้องติดตาม ต้องวิเคราะห์และต้องพิจารณา จะไปปฏิเสธไม่สนใจตลาด ไม่สนใจราคาคงไม่ได้

เมื่อต้องวิเคราะห์ราคา เทคนิคอล ก็เป็นเพียงเครื่องมือ หรือกระบวนการในการวิเคราะห์ ประกอบการตัดสินใจซื้อขาย การวางจุดเข้าออก  บทบาทความสำคัญมันมีเพียงเท่านั้น ตามการศึกษา เทคนิคอลไม่ใช่พระเอก แต่มันมีน้ำหนักเพียงแค่ 10% ของชัยชนะหรือผลกำไรที่เกิด

อีก 30% เป็นเรื่องของการบริหารจัดการเงิน(Money Management)และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สอดคล้องและเหมาะสม สุดท้ายอีก 60% นั้นคือเรื่องของจิตใจ การมีจิตใจที่มั่นคงไม่ไหวไปตามอารมณ์ มีวินัยทำตามระบบเทรด(ยึดมั่นใจกลยุทธ์ที่ให้สัญญาณซื้อขาย)

เทคนิคอลกับเรื่องของ "จิตใจ"
เทคนิคอล ระบบส่วนใหญ่มักจะได้สัญญาณมากจากการคำนวณในอดีต มันจึงเป็นเรื่องของการแสดงผล พฤติกรรมราคาที่เกิดแล้วจบแล้ว แต่เทคนิคอล ไม่มีส่วนสร้างพฤติกรรมราคา หรือ ที่เรียกว่าอุปทานหมู่ อุปทานเกิดจาก ข่าว การยกเอาเหตุผลไปชี้นำ เพื่อให้กระทบต่ออารมณ์และจิตใจของนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรในตลาดส่วนมาก ราคามันมีการ action เกิดแล้วจึงจะมีผลปรากฏในรูปแบบสัญญาณทางเทคนิคอล นอกจากนี้ 

ถ้าเคยใช้งานเทคนิคอลจะทราบว่า การตีความแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ตามประสบการณ์ตามมุมมอง และถ้าเป็นสายที่ใช้เครื่องมือประเภทดัชนีราคา การใช้เครื่องมือต่างกัน หรือการใช้ timeframe ต่างกัน หรือ parameter แตกต่างกัน สัญญาณการซื้อขายย่อมแตกต่างกัน การจะเกิดอุปทานพร้อมกันแบบ ชี้นำกันด้วยเทคนิคอล มันจึงเกิดได้ยาก กว่าการใช้ ข่าวลือ หรือใช้คำชักชวน ในการสร้างอุปทานหมู่

เทคนิคอลนอกจากใช้อ่านอารมณ์ตลาดผ่านพฤติกรรมราคา ได้แล้ว ในระดับนักเก็งกำไรมืออาชีพ เขาใช้เทคนิคอลในการ ควบคุมอารมณ์ตัวเอง คุมไม่ให้โลภ ไม่ให้กลัว เทรดซื้อขายไปตามสัญญาณของระบบ ที่ได้ทำการพัฒนาและทดสอบมาเป็นอย่างดี จนมีค่าสถิติที่เชื่อมั่นได้ ไม่ไปยักเขายักออก ตามอารมณ์ หรือซื้อตามคำเชียร์ ตามข่าว ให้เป็นเหยื่อของคนทำเกมส์ที่เขาใช้จิตวิทยาตลาด

เหนือไปกว่านั้นสูงไปกว่านั้น ในโลกของการเทรดเก็งกำไร ปัจจุบันเครื่องมือเทคนิคอล หรือโมเดลคณิตศาสตร์ที่ใช้วิเคราะห์พฤติกรรมราคา ถูกสร้างเป็น algorithm เพื่อใช้สำหรับระบบคอมพิวเตอร์ในการเทรดแทนมนุษย์ ที่เรียกกันว่า Algorithmic trading หรือ Robot Trading เพื่อตัดเรื่องของจิตใจ และข้อจำกัดทางร่างกายของมนุษย์ออกไป ซึ่งถือเป็นแขนงการวิจัยและพัฒนาในการใช้เทคนิคอลขั้นสูง 


ออกแบบ อัลกอริที่ม ใช้เงื่อนไขการซื้อขาย จากเทคนิคอล

ลงมือเขียน code โปรแกรมระบบเทรด เพื่อให้ Robot Trade เริ่มทำงาน


รันระบบให้โปรแกรมเทรดทำงานซื้อขายอัตโนมัติ ใช้บนโปรแกรม Meta Trader4 (Automatic trading environment)



ตัวอย่างระบบเทรดอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์แบบ HFT ของ กองทุนต่างชาติ


มีคนที่ใช้ เทคนิค แล้วรวยบ้างไหม?
เทคนิคอล มันเป็นเพียงส่วนหนึ่ง 10% ของความสำเร็จ แต่ด้วยความมันเป็นเครื่องมือที่ประโยชน์ต่อนักเก็งกำไรและนักลงทุนที่ใช้งานเป็น และใช้อย่างเข้าใจถ่องแท้ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยใช้งานแล้วประสบความสำเร็จและเลือกใช้งานต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายสิบปี โดยไม่ได้มองมันเป็นแค่เรื่องไร้สาระ  

ผมจึงเรียบเรียงเหล่านักเทคนิคอลหรือผู้ใช้เทคนิคอล จนเป็นระดับตำนาน ประสบความสำเร็จระดับโลก มาให้ดูเป็นตัวอย่างกัน (ถ้ามันปาหี่ คงไม่มีใครใช้แล้วรวยจริงไหมครับ)

1.Homma Munehisa—
บิดา ผู้พัฒนาศาสตร์แท่งเทียนญี่ปุ่น เขาเป็นพ่อค้าที่มีความช่างสังเกต และจดบันทึกราคา ข้าว ใช้เวลาติดตามพฤติกรรมราคา ศึกษา รูปแบบราคาเป็นหลายปี

ประสบความสำเร็จมากในการเก็งกำไรสินค้าเกษตร ร่ำรวย มหาศาลในยุค คศ ที่ 17 ว่ากันว่าถ้าเทียบมูลค่าทรัพย์สินปัจจุบันน่าจะมีมากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1755 เขาออกหนังสือ รวบรวมรูปแบบ และพฤติกรรม ของราคา ในลักษณะ แท่งเทียนญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการยอมรับมากในเวลาต่อ


2. Jesse Livermore—
เจ้าของฉายา Boy Plunger และ "Great Bear of Wall Street“ นักเก็งกำไรที่หาเลี้ยงชีพจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ยาวนานถึง 20 ปี เขาใช้หลักของเทคนิคอลในการหาจังหวะเข้าซื้อขาย รวมถึงการติดตามพฤติกรรมราคาหุ้น เขาใช้แนวโน้ม แนวรับแนวต้าน Pivot Point และเทคนิคการอ่านปริมาณการซื่ขายแบบ  tape reading
ในปี 1907 เขาอายุ 30 ปี ก็ได้กลายเป็น เศรษฐีเงินล้าน(millionaire) จากการขายซ๊อตหุ้นก่อนตลาด NYSE ล่วงรุนแรง ปีนั้นเป็นปีทองของ Jesse Livermore เขาทำกำไรทั้งจากตลาดหุ้นและตลาดสินค้าเกษตร ได้กำไรจำนวนมาก
ในปี 1929 เขาทำการ short selling หุ้นครั้งใหญ่จากการถล่มของตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงวิกฤติการเงิน Great Depression ทำให้เขาได้กำไรรอบนั้นมากกว่า 100 ล้านเหรียญ 


3. Nicolas Darvas —
เจ้าของผลงาน "How I Made $2,000,000 in the Stock Market" เศรษฐีเงินล้านจาก Wall Street ผู้ที่ลงทุน ทำเงิน 25000 เหรียญไปเป็น 2250000 เหรียญในเวลา 3 ปี —โด่งดังและร่ำรวยช่วงยุค 1958 - 1960 ผู้—คิดค้นพัฒนาระบบเทรด Darvas BOX Theory ที่มีใช้กันจนมาถึงปัจจุบัน





4. William J. O'Neil
เจ้าของผลงาน "How to Make Money in Stocks, 24 Essential Lessons for Investment Success" เข้าเริ่มเข้าตลาดหุ้น wall street ตั้งแต่ปี 1958 ทำงานในตำแหน่ง stockbroker เขาเป็นนักค้าหุ้นทีเก่งมากคนหนึ่งในยุคนั้น ด้วยสไตล์การลงทุนในหุ้นเติบโต อาศัยการเข้าซื้อขายจากเครื่องมือทางเทคนิคอล เขาได้รับอิทธิพลวิธีคิดการลงทุนมาจาก Jesse livermore, Gerald M. Loeb, Jack Dreyfus, Nicolas Darvas ซึ่งเป็นเหล่าตำนานของ wall street คนอื่นๆ จนตกผลึกสร้างเป็นแนวทางของตัวเอง

เขาเองพัฒนากลยุทธ์ซื้อขายหุ้นแบบ CASLIM ทฤษฏีการลงทุนที่ผสมทั้ง Fundamental และ Technical ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะเขาได้นำแนวคิดทางเทคนิคอลสังเกตพฤติกรรม การเคลือ่นตัวไม่ปกติของราคาหุ้นมาใช้เรียกว่า "Break Out System" เขาเองนักเทคนิคอลสาย QUANT ตัวพ่อที่นำเอา เทคนิคทางสถิติและคณิตศาสตร์มาใช้ในการเก็บข้อมูลและสังเกตพฤติกรรมราคาของหุ้น

ปี 1963 เข้าตั้งบริษัท William O'Neil + Co. Inc. บริษัทบริหารเงินทุนและกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ผลตอบแทนของกองทุนที่เขาดูแลออกมาอย่างยอดเยี่ยม เหนือไปกว่านั้น  บริษัทของเขายังเป็นบริษัทเงินทุนแรกๆใน wall street ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการเก็บข้อมูลติดตามราคาหุ้นและประมวลผลหาจังหวะซื้อขายหุ้น เขายังเป็นเจ้าของวลีทองที่ว่า “History will repeat itself.”


5. Larry Williams—
เขาเป็นนักเก็งกำไรสายเทคนิคอล ชื่อดังคนหนึ่ง มีประสบการณ์ในตลาดมากกว่า 50 ปี ชำนาญในตลาดล่วงหน้า(Future)และตลาด commodity เขาสร้างฐานะจากคนชั้นกลางกลายเป็น เศรษฐีเงินล้าน 


6. Ed Seykota
เขาเป็นต้นตำหรับ "System Trader“ รุ่นแรกๆของโลก จบวิศวะไฟฟ้า MIT เข้าสู่ตลาดหุ้นปี 1970 เป็นนักเก็งกำไรสาย "trend following systems“ เปลี่ยนเงิน 1000 เหรียญให้เติบโตทำกำไรถึง 250,000% ในระยะเวลา 10 กว่าปี

—เริ่มเทรดหุ้นเป็นระบบจากบทความของ Richard Donchian เขาเริ่มศึกษาการเก็งกำไรด้วยระบบอย่างจริงจัง บนพื้นฐานการวิจัยและพัฒนาโมเดล ใช้หลักการของคณิตศาสตร์และสถิติ 


7. James Simons
เขาเป็นเจ้าของ Renaissance Technologies บริหารกองทุน Hedge Fund ที่ใหญ่อันดับต้นๆของโลกบริหารเงินลงทุนของมหาเศรษฐี บริษัทและกองทุนบำเน็จบำนาญต่างๆของอเมริกา เขาเป็นเฮ็ดฟันด์สาย Quant เน้นการใช้โมเดลคณิตศาสตร์ในการเทรดเป็นหลัก และเป็น—ผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งในอเมริกา ปัจจุบันมีสินทรัพย์ถึง $10.6 billion


8. Paul Tudor Jones
เขาเป็น CEO และผู้ก่อตั้ง Tudor Investment Corporation มีทรัพย์สินมากถึง 3.3 billion($) เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 336 ของโลก สามารถทำผลงานผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 90% ติดกัน 5 ปี เป็นนักเก็งกำไรสาย Swing Trading ใช้เทคนิคอลและโมเดลคณิตศาสตร์ในการซื้อขาย นิยมมากในการหาจังหวะในการเขาซื้อขายจากจุดกลับตัวของราคา


9. Stanley Druckenmiller
เขาเป็น —hedge fund manager และผู้ก่อตั้ง Duquesne Capital(ปิดตัวในปี 2010)
—กองทุนมีทรัพย์สินมากถึง $12 billion ส่วนตัวเขามีทรัพย์สิน $2.8 Billion
—เขาเป็นนักเก็งกำไรสายเทคนิคอลที่เป็นลูกหม้อและมือขวาของเซียนระดับตำนานอย่าง  George Soros  

ตัวเขา มีผลงานที่หรู โดยสามารถสร้างผลตอบแทนในปี 2008 ถึง $260 million ขณะที่นักลงทุนรายอื่นๆต่างย่ำแย่จากวิกฤติการเงิน และกองทุนเขามี CAGR สะสม 37% ตลอดระยะเวลา 12 ปี 


10. David E. Shaw
เขาเป็น ผู้ก่อตั้งกองทุนเฮ็ดฟันด์  D.E. Shaw&Co. เขาเป็นนักคอมพิวเตอร์ระดับหัวกระทิ ที่ใช้คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ มาสร้างความร่ำรวยจากตลาดหุ้น เขาศึกษาพฤติกรรมราคาหุ้นและสร้างโมเดลในการเข้าซื้อขาย 

เขาได้รับฉายาว่า "King Quant ตามแนวทางการเทรดแบบใช้ระบบเฉพาะในรูปแบบ High Speed Quantitative Trading หรือ High Frequency Trading ระดับต้นๆของตลาดหุ้นสหรัฐ เขาเริ่มใช้ระบบนี้มาตั้งแต่ช่วงปี 2001 และประสบความสำเร็ตอย่างมาก โดยปัจจุบัน ทรัพย์สินก็มีอยู่ประมาณ $3 Billion


นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่ผมยกตัวอย่างมาให้ดู ยังมีเทรดเดอร์ที่ใช้ เทคนิคอลอีกมากมาย ที่ประสบความสำเร็จ จากแนวทางการซื้อขายหุ้น ด้วยการใช้เครื่องมือทางเทคนิคอล ในการวิเคราะห์พฤติกรรมราคา หาจังหวะการซื้อขาย 


สรุป
ตัวเทคนิคอล หรือกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลราคาและปริมาณซื้อขาย มันไม่ได้เป็นเรื่องอุปโลก ไม่หลอกลวง และมีหลักวิชารองรับ(คณิตศาสตร์+สถิติ+คอมพิวเตอร์) และมีการใช้อย่างกว้างขว้างในโลกใบนี้ รวมไปถึงมีการวิจัยและพัฒนาโมเดลใหม่ๆเกิดขึ้นทุกปี

แน่นอนการใช้ต้องอยู่บนหลักของวิชาการ หลักคณิตศาสตร์ ต้องเข้าใจสมการที่มา เข้าใจข้อจำกัด ที่สำคัญก่อนใช้ต้องมีการทดสอบ(Backtest & Forward Test) เพื่อให้ได้ค่าที่บ่งบอกคุณภาพของเครื่องมือ และบอกความมั่นใจ ความถูกต้อง ก่อนนำไปใช้ รวมถึงต้องมีการสร้างเป็นระบบเทรด ที่จะรวมเอากลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงและการบริหารเงินทุน เอาไว้ด้วย

แต่ถ้าเอาเทคนิคอลไปเดาอนาคต เดาราคาหุ้น ไปชักแม้น้ำทั้งห้า ไปชี้นำ ไปใช้แบบไม่อ้างถึงค่าสถิติ ค่าความถูกต้อง/ค่าความน่าจะเป็น แบบนั้น ปาหี่แน่นอน แต่ไม่ใช่ เทคนิคอล ที่ปาหี่นะ แต่ไอ้คนพูด คนที่แอบอ้างเอาเทคนิคอลไปหลอกคนนี่แหละครับ ต่างหาก ที่ปาหี่!!