ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Drawdown

หลายคนรู้จักระบบเทรดกันมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ผมดีใจตรงที่ว่าหนังสือ "เล่นหุ้นเป็นระบบ(Trading System)" ของผมช่วย กระตุกความคิดคน เปลี่ยนความเชื่อเดิมๆที่มีในเชิงลบ ว่านักเล่นหุ้นหรือนักเก็งกำไรเป็นผีพนัน พวกนี้คิดไม่เป็นไม่โลภ หวังรวยเร็ว ทำให้เขาเห็นภาพนักเก็งกำไรมืออาชีพ ที่เล่นเก็งกำไรแบบมีระบบ โดยจำกัดความเสี่ยง และเน้นที่ผลกำไรที่ยั่งยืนระยะยาว ไม่ต่างอะไรกับนักลงทุน มีการวางแผน มีกลยุทธ มีการจัดการความเสี่ยง และการบริหารจัดการเงินที่แยบคายมีขั้นมีตอน หวังผลการเติบโตของพอร์ตระยะยาว ที่สำคัญนักเก็งกำไรคือนักฉวยโอกาสที่มองเห็นโอกาสจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น การเปลี่ยนแปลงจากภาวะอารมณ์ตลาดและความไม่เป็นเหตุเป็นผลของราคา นำจังหวะนั้นมาสร้างเป็นผลกำไร ด้วยระบบปราศจากอารมณ์


พูดถึงเรื่อง การบริหารจัดการเงิน สิ่งหนึ่งที่อยากนำมาแบ่งปันก็คือเรื่องของ การวิเคราะห์การขาดทุน เพราะเรื่องของการขาดทุนเป็นสิ่งที่นักเก็งกำไร ในตลาดไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถควบคุมมันได้ ตัวที่บ่งบอกพฤติกรรมการขาดทุนของระบบได้ดี นั้นก็คือ Drawdown

ทำไมต้องสนใจ
Drawdown คือ ค่าที่ได้จากการวัดจากการวัดการลดลงของเงินทุนจากจุดสูงสุดก่อนอดีต(Peak) ถึงจุดต่ำสุด(Trough) ที่เกิดขึ้น


Drawdown มีความน่าสนใจ ตรงที่มันเป็นการบ่งบอกระดับความรุนแรงจากการขาดทุนของระบบ ที่เกิดขึ้นในขณะดำเนินการเทรดโดยใช้ระบบนั้น แม้จากการทดสอบระบบจะทำกำไรได้ดี แต่ถ้าเกิดมีค่า Drawdown ที่สูงนั้นเป็นการบ่งชี้ถึงโอกาสจะเกิดความไม่สเถียรของการสร้างผลตอบแทนจากระบบในระยะยาว ยิ่งเกิด Drawdown ที่มีขนาดใหญ่และเกิดถี่ มันยิ่งบ่งบอกถึง error ที่ซ่อนอยู่ในระบบและการตอบสนองของระบบกับพฤติกรรมราคาหุ้นหรือภาวะตลาดในขณะนั้นๆ  



จากภาพจะพบว่า ถ้าระบบมี Drawdown ที่ลึกและใหญ่โอกาสจะกลับไปนั้นจะยิ่งยากมากขึ้น


ภาพข้างบนแสดง ค่า Drawdrown ประเภทต่างๆจากการทดสอบระบบเทรด ด้วยโปรแกรม Meta Trader ทำการทดสอบระบบกับข้อมูลราคาทองคำย้อนหลัง 

สิ่งที่เทรดเดอร์หรือนักพัฒนาระบบสนใจ คือเรื่องของขนาดของ Drawdown และความยาวนานของการเกิด Drawdown (Drawdown Length) ที่ต่อเนื่อง(โดยทั่วไปยิ่ง cover กลับมาเป็น Drawup ได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี) ถ้าเราประเมินค่าของการเกิด Drawdown และเตรียมพร้อมรับมือกับมันได้ ยิ่งเป็นผลดีต่อจิตใจ บางคนเจอ Drawdown ที่ลึกและใหญ่ขึ้นเรื่อย อาจจะจิตตกถอดใจหมดความเชื่อมั่นต่อระบบ ต่อวิธีการเทรดหุ้นไปก็มี ของแบบนี้ถ้าเรามั่นสังเกต บันทึกค่าเป็นระเบียบแบบแผน เราจะติดตามมันและแก้ไขมันได้ทันกาล



จากภาพกราฟ Return ของผลตอบแทนจากระบบที่เทรดใน S&P500 ระยะเวลา 36 ปีเทียบกับ Drawdown ที่เกิด จะพบว่า ในช่วงที่เกิด Drawdown ขนาดใหญ่ และเกิดต่อเนื่อง มีผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตของผลตอบแทนที่ได้รับจากระบบ แน่นอนว่าย่อมกระทบต่อจิตใจของเทรดเดอร์ในช่วงเวลานั้น 

นอกจากนี้การคำนวณเปรียบเทียบผลตอบแทนกับ Maximum Drawdown  เรายังสามารถใช้สมการ Calmar Ratio ในการสร้างกราฟวิเคราะห์ความสัมพันธ์ เพื่อหาค่าประสิทธิภาพของระบบได้อีกทางหนึ่ง

Maximum Drawdown
Drawdown ที่มีในระบบ ค่าที่มากที่สุดใหญ่ที่สุดในช่วงขณะเวลาที่เราสังเกตนั้นเรียกว่า Maximum Drawdown เป็นค่า Drawdown ที่มีนัยยะสำคัญต่อระบบ โดยเราสามารถนำการเกิดการเปลี่ยนแปลงของ Maximum Drawdown ไปใช้อธิบายค่าความสเถียรของระบบได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มของ  Maximum Drawdown ซึ่งยิ่งมีความผันผวนมาก หรือมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง 

Drawdown Analysis
การติดตามค่า Drawdown จากระบบเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเราไม่อาจจะคาดเดาภาวะตลาด หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ผลจากการเทรดที่ได้จากระบบ นั้นก็ขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็น ดังนั้นการรับมือที่ดีที่สุดสำหรับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงก็คือ การติดตามอย่าใกล้ชิด และนำผลนั้นมาทำการวิเคราะห์ 

เทคนิคในการวิเคราะห์ Drawdown มีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบเบื้องต้นที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงและเพียงพอ ก็คือการสร้างเส้นแนวโน้มของ Drawdown โดยใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือเรียกง่ายว่าเป็นการหา Average Drawdown ของระบบ เพื่อเทียบเคียงแนวโน้มที่จะเกิดในอนาคต 

จากภาพนำค่า Drawdown ที่เกิดมาพอร์ตกราฟเทียบกับช่วงเวลาต่างๆ สร้างเส้นค่าเฉลี่ย EMA3 เพื่อมาเป็นตัวอ้างอิงและสังเกตทิศทางการเกิด DrawDown กรณีที่ EMA3 มีค่าความชันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ บ่งบอกการเกิด Drawdown ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นสัญญาณที่ไม่ดี นอกจากนี้กรณีเกิด การเบรคเส้น  EMA3 หรือ Average Drawdown ของ Drawdown จนเกิด Maximum Drawdown ใหม่ต่อเนื่อง ย่อมบ่งบอกถึงความผันผวน หรือความผิดพลาดแฝงที่เกิดขึ้นในระบบที่ชัดเจน 

จากภาพเป็นระบบ ที่สามารถกลับคืนจากช่วงวิกฤติได้ โดยช่วงที่ย่ำแย่ %DD ลงไปลึกถึง 50% แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธและปรับปรุงระบบ ทำให้ %DD มีค่าลดลงเรื่อยๆต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่เป็นสัญญาณที่ดีคือค่า DD แนวโน้มลดลงตัดเส้นเฉลี่ย EMA3 เป็นการบ่งชี้ว่า Drawdown นั้นสามารถควบคุมและลดขนาดลงได้แล้ว 

การสังเกตติดตามค่า Drawdown ของระบบต่อเนื่อง นั้นยังสามารถทำให้เราใช้ค่าสมการคณิตศาสตร์ เพื่อประเมินแนวโน้มการเกิด Drawdown ของระบบในอนาคตได้อีกด้วย โดยจากภาพข้างล่าง ผมใช้สมการโพลีโนเมียลดีกรีสอง เพื่อประมวลผลค่าแบบไปข้างหน้าเพื่อประเมิน โอกาสการเกิด Drawdown ในอนาคต วิธีการนี้เป็นแค่การประเมินเบื้องต้น กรณีการเกิดแบบเป็นระบบ แน่นอนว่าหลายครั้งการเกิด Drawdown อาจจะเกิดแบบไม่เป็นระบบ โดยเฉพาะช่วงที่มีความเสี่ยงแบบไม่เป็นระบบ (non sytematic risk ) หรือเกิดความผันผวนของภาวะตลาดหุ้น ทำให้การประเมินค่าแบบนี้อาจจะไม่สามารถเชื่อถือได้ทั้งหมด 

Reduce Drawdown with Stop loss
Drawdown เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายตามสัญญาญของระบบ กรณีที่เกิด Maximum Drawdown ส่วนใหญ่เกิน 80% มักจะมาจากความผันผวนที่รุนแรงของราคา การเปลี่ยนแปลงของราคาแบบฉับพลัน จนทำให้สัญญาณของระบบล่าช้าไป (lagging) เมื่อออกตามสัญญาณขายทำให้ เกิดการขาดทุนที่หนักและรุนแรง 

นอกจากนี้พบว่าการเกิด Drawdown Length ระยะเวลานานมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อแนวโน้มราคาหุ้น โดยเฉพาะกรณีที่แนวโน้มราคาหุ้น เป็น sideway เกิดความไม่ชัดเจน ทำให้่สัญญาณจากระบบเกิดความผันผวน หรือมี False signal เกิดขึ้นได้ ทำให้ขาดทุนรุนแรงและต่อเนื่อง(พบมากในระบบประเภท Trend Following ) แน่นอนว่า เทรดเดอร์อาจจะต้องปวดหัน ถ้าเกิด Drawdown Length มีความยาวนาน ไม่อาจจะกู้ย้อนกลับมาเป็น Drawup ได้ ผลกระทบโดยตรงก็จะเกิดกับจิตใจ 

สิ่งหนึ่งที่นำมาช่วยลดขนาดการเกิด Drawdown ให้เล็กและพอเหมาะกับการรับมือของเราได้ นั้นคือการใช้ Stoploss แบบ คงที่ (fix) เช่นการกำหนด %loss หรือกำหนดจำนวนเงินที่ยอมขาดทุน โดยถ้าการขาดทุนมาถึงระดับนั้น ก็จะทำการหยุดขาดทุนทันที ที่ราคาหุ้นระดับนั้น แม้ว่าสัญญาณขายจะยังมาไม่ถึง กรณีนี้ค่า Drawdown ก็จะเป็นค่าเพิ่มขึ้นแบบคงที่แน่นอน และขนาดการโตของ  Maximum Drawdown  จะไม่เกิดแบบรวดเร็วเกินการรับมือของเรา 

บางคนอาจจะบอก Stoploss ไม่เกี่ยวกับ Money Management  แต่ผมว่าไม่จริง ทุกอย่างในระบบมันเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันเสมอ เพราะการ Stoploss มันคือการจัดการกับ Loss ที่จะเกิด ควบคุมไม่ให้บานปลายไป และควบคุม Drawdown ที่เกิดให้เป็นไปตามแผน ถ้าคิดจะบริหารเงินทุนให้สำเร็จ มีประสิทธิภาพ Stoploss ก็เป็นสิ่งที่ต้องมีและต้องใช้ครับ ส่วนเราจะเลือก method อะไรเป็นตัว Stoploss จะใช้เครื่องมือทางเทคนิคคอล หรือจะดูที่ Level ตัวเลขการขาดทุน ก็แล้วแต่จะเลือกใช้ตามถนัดครับ

Money Management
นอกจากนี้ถ้าเราเข้าใจเรื่องความเสี่ยง และสามารถวิเคราะห์ Drawdown ได้ดีๆแล้วนำเอาผลไปใช้การวางแผนบริหารจัดการเงิน(Money Management) โดยการควบคุม Position size แบบสอดคล้องกับภาวะตลาด เพื่อลดความเสี่ยง มันจะยิ่งทำให้โอกาสทำกำไรได้แบบยั่งยืนและต่อเนื่องมีสูงมากขึ้น และเป็นการเตือนตัวเราให้ไม่โลภ ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงมากเพื่อผลตอบแทนที่มากจนเกินไป จากรูปข้างล่างจะเห็นว่า ถ้าเราควบคุม %risk ไว้ในระดับที่พอดีพอเหมาะ โอกาสการเจอกับ Maximum Drawdown สูงๆก็จะยาก การขาดทุนหมดตัวก็จะแถบไม่มี 



รูปจาก พี่ต้าน MudleyGroup page


สรุป 
แนวคิดเรื่อง Drawdown อาจจะไปขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่า ไม่ขายไม่ขาดทุน หรือราคาลดลงไม่นานก็กลับขึ้นมาได้ ควรถือทนหรือทนถือไปก่อน ความเชื่อแบบนี้ ผมคิดว่าอันตรายครับ มันเท่ากับเราพยายามจะหลอกตัวเอง เราสร้างเหตุผลเพื่อมาข่มจิตใจและความกล้วของเรา ยิ่งถ้าเทรดในตลาดอนุพันธ์หรือตลาดล่วงหน้าต่างๆ สัญญามีอายุจำกัด ความเชื่อแบบการคิดว่าเดี่ยวก็เด้ง เดี่ยวก็ดีเอง มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรมีในสมอง นักเก็งกำไรเป็นอย่างยิ่ง เราใช้ระบบทุกอย่างต้องเป็นระบบ เป็นตัวเลข วัดได้ ตรวจสอบค่าได้ เป็นรูปธรรม ไม่มีการคิดเอง เออเอง ตามจิตใจ 

เพราะจิตใจของเราเมื่่อถูกสถานการณ์บีบคั้นมันก็มักจะหลอกตัวเรา บดบังความคิดเราเสมอ แต่แน่นอนว่าการไปกังวลกับ Drawdown มากเกินไปมันก็ทำให้จิตใจเราไม่สงบ เป็นพวกพารานอยด์ ทำให้เราโลเล ไม่เชื่อมั่นในระบบ ในวิธีคิดของตัวเอง ทำให้พยายามเปลี่ยนวิธี เปลี่ยนรูปแบบการเทรดของระบบเรื่อยๆ แบบนั้นก็ยากจะสำเร็จ เพราะการเกิด Drawdown อาจจะเกิดเพียงบางช่วง บางภาวะจากปัจจัยที่เราไม่อาจจะควบคุม หรือไม่สามารถประเมินได้หมด ตลาดหุ้น ตลาดเก็งกำไร เป็นเรื่องของอนาคต มันอยู่บนกฏความไม่แน่นอน 

สุดท้ายสิ่งสำคัญคือ การไม่ประมาท และไม่กังวลจนเกินไป ติดตาม Drawdown อย่างต่อเนื่อง เลือกเดินทางสายกลาง ใช้สติในการเทรด มีวินัยและยึดมั่นระบบ เพียงเท่านี้อนาคตเราก็จะสามารถเอาชนะตลาดได้ครับ