ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

CCI indicator

วันนี้จะขอนำเอาเรื่องของ Commodity Channel Index (CCI) มาเล่าให้ฟัง เพราะหลายคนที่อีเมลเข้ามาพูดคุย สนใจเรื่องของการเทรดหุ้นแบบเก็งกำไรรายรอบ ถ้าจะให้แนะนำเครื่องมือ ก็จะคงไม่มีอะไรพิเศษ เพียงแต่นึกขึ้นมาได้ว่า CCI ก็เป็นอีกหนึ่งตัวที่เทรดเดอร์นิยมนำไปใช้ ในการหาสัญญาณซื้อขายในระบบเทรด และตัวนี้ผมยังไม่เคยกล่าวถึงมาก่อน วันนี้จึงนำมาสรุปให้อ่านกัน

Commodity Channel Index (CCI) เป็นเครื่องมือดัชนีราคา ประเภท oscillator ที่ถูกพัฒนาโดยคุณ Donald Lambert เขาออกแบบทดสอบกับข้อมูลราคาในหุ้น ดัชนีตลาด ETF และสินค้าโภคภัณฑ์ ที่มีการเคลื่อนที่แบบเป็นรอบวัฏจักร เพื่อหาจังหวะจากคาบการแกว่งตัวของราคา หลักการทำงานของ CCI คือการหาค่าการกระจายตัวและการเบี่ยงเบนของราคาปัจจุบันจากราคาค่าเฉลี่ยเทียบกับการกระจายตัวของค่ากลาง ในคาบเวลา(interval) ที่สนใจ โดยมีสมการการคำนวณดังนี้

CCI = (Typical Price - SMA(n) of TP) / (.015 x Mean Deviation) 

-Typical Price (TP) = (High + Low + Close)/3 
-Constant = .015
-n = time interval คาบเวลาที่เราสนใจ 

การปรับปรุงโมเดลของ CCI ให้ดีขึ้นคือการหาค่าเฉพาะของคาบเวลา ที่สอดคล้องกับวัฏจักรของราคาสินค้านั้นๆ ที่เราต้องการวิเคราะห์โดยค่าปกตินิยม หรือค่าตั้งต้น จะใช้ 20 วัน เป็นค่าหลัก แต่เราสามารถคำนวณหาเบื้องต้นได้ โดย

1 เปิดกราฟวันช่วงเวลา 1 ปี >> หรืออาจจะน้อยกว่า 1 ปีก็ได้ แล้วแต่พฤติกรรมของราคา
2 หาจุด high และ low อันดับ 1 และ 2 อย่างละ 2 จุดจากกราฟในข้อ 1 
3. นำค่า high หรือ low มาคำนวณค่าประมาณโดยสมการ (High2-High1)/3 หรือ (Low2-Low1)/3 โดยเลือกค่าที่ได้มาเป็น  time interval 

แน่นอนว่ากรณีที่  time interval  มีค่ายาว หรือสั้นไปจาก ค่า default ย่อมทำให้อาจจะต้องมีการปรับตั้ง ค่าในสมการใหม่ทั้งค่า Constant และค่า value level โดยค่าปกติของ CCI นั้นจะใช้  time interval ที่ 20 โดยมีค่า value level ช่วง -100 ถึง +100 ยิ่ง ถ้าเราปรับตั้งค่า time interval  ที่สั้นกว่า 20 เช่น 10 หรือ 15 ค่า cci value อาจจะมากกว่าช่วง -100 ถึง +100 ทำให้จะต้อง set ค่าที่กว้างขึ้นใหม่เช่น -200 ถึง +200 เป็นต้น หรือกรณีที่ time interval  ที่มากกว่า 20 เช่น 40 หรือ 60  ค่า cci value อาจจะแคบและต่ำกว่าช่วง -100 ถึง +100 มาก เป็นต้น 

การปรับแต่งค่า เป็นเรื่องการใช้งานขั้นสูงเราต้องทำการวิจัยทดสอบ จนได้ค่าที่ดีและเหมาะสม ไม่ควรไปเลือกใส่เลขตามใจนึก เพราะเช่นนั้นจะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ผิดเพี้ยนไป กรณีที่เราไม่มีความรู้หรือไม่ได้ทำการทดสอบ ก็ควรใช้ค่า default ปกติที่มีเป็นหลัก 

การตีความและการนำไปใช้

1. Buy/Sell signal
การดูสัญญาณซื้อขายจากระดับ เป็นการใช้งานปกติโดย หาสัญญาณซื้อขายจากการกลับตัวของค่า CCI ที่สอดคล้องกับการกลับตัวของแนวโน้มราคาหุ้น โดยใช้ระดับ +100 และ -100 เป็นค่าอ้างอิง เช่น
- กรณีสัญญาณซื้อ จาก CCI ตัดเส้น -100 ขึ้นไป (down outside to inside) 
- กรณีสัญญาณขาย จาก CCI ตัดเส้น +100 ลงมา (top outside to inside)

.

อีกเทคนิคหนึ่งที่นิยมใช้คือการเพิ่มค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เข้าไปเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงความชันของเส้น CCI เพื่อใช้เป็นสัญญาณซื้อขาย หรือสัญญาณเตือนการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นกว่าการใช้เส้น level line หรือใช้กรณีที่ราคาแกว่งตัวแคบ ค่า CCI อยู่ในกรอบ -100 ถึง +100 โดยไม่ทะลุออกมา ดังภาพ โดยเมือ CCI ตัดขึ้น SMA10 ใช้เป็นสัญญาณซื้อ และเมื่อ CCI ตัดลง SMA10 ก็จะใช้เป็นสัญญาณขาย 



2. Overbought/Oversold
บริเวณยอดของ CCI ใน zone มากกว่า +100 และเกิน -100 ก็เปรียบได้กับบริเวณที่มีการซื้อมากและขายมาก เป็นบริเวณที่ราคา มีโอกาสจะชะลอตัวและเกิดการกลับทิศของแนวโน้มได้ นอกจากนี้เส้น level 0 ยังเป็นอีกหนึ่งค่าสังเกตที่แบ่งแยกการเปลี่ยนแปลงราคา โดย CCI มีค่าเป็นบวก ยืนเหนือ level 0 จะเป็นการบ่งบอกทิศทางการเปลี่ยนแปลงราคาแบบยกตัวขึ้นชัดเจน เช่นเดียวกับกรณีที่ CCI มีค่าติดลบ ลดลงต่ำกว่า level 0 จะเป็นการบอกทิศทางการเปลี่ยนแปลงราคาแบบลดลงจากอดีต


3. Bullish Bearish Divergences
ใช้การดูการแย้งกันระหว่่างทิศทางของ CCI และทิศทางการเคลื่อนตัวของราคา โดย กรณีเกิดรูปแบบ  Divergence ย่อมจะมีโอกาสการเกิดการกลับทิศหรือกลับตัวของแนวโน้มได้ 

- Bullish divergence : ทิศทางราคาปรับตัวลง แต่ทิศทางของ CCI เคลื่อนที่ในทิศขึ้นเกิดการสวนทางกัน ความน่าจะเป็นที่ราคาจะเกิดการกลับทิศจากลงเป็นขึ้นก็มีสูง

- Bearish Divergence: ทิศทางราคาปรับตัวขึ้น แต่ทิศทางของ CCI เคลื่อนที่ในทิศทางลง สวนกัน ความน่าจะเป็นที่ราคาจะเกิดการกลับทิศจากขึ้นเป็นลงก็มีสูง

รูปจาก chartschool.com

นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว CCI ยังสามารถนำไปใช้งานร่วมกับพวก band indicator เช่น Bollinger band หรือใช้ร่วมกับดัชนีเชิงปริมาณซื้อขาย เช่น OBV เพื่อใช้ในการยืนยันการกลับตัวของทิศทางราคา และยืนยันความชัดเจนของสัญญาณเป็นต้น